ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าตามทิศทางบอนด์ยีลด์ จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ

© Reuters. ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าตามทิศทางบอนด์ยีลด์ จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ

InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (19 ธ.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.39% แตะที่ระดับ 102.1670

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.8960 เยน จากระดับ 142.8940 เยนในวันจันทร์ (18 ธ.ค.) แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8608 ฟรังก์ จากระดับ 0.8685 ฟรังก์, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3335 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3393 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.1683 โครนา จากระดับ 10.2207 โครนา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0976 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0916 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2723 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2639 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.903% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ลดลงสู่ระดับ 4.019% เมื่อคืนนี้

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (ultraeasy monetary policy) ในการประชุมเมื่อวานนี้ และไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ ที่เป็นการบ่งชี้ว่าจะยกเลิกการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในปีหน้า

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.0% ในเดือนต.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.5% ในเดือนต.ค.

กดอ่านข่าวต้นฉบับจาก InfoQuest