ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 34.63/69 การเมืองในประเทศยังเป็นปัจจัยกดดันอ่อนค่า

© Reuters. ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 34.63/69 การเมืองในประเทศยังเป็นปัจจัยกดดันอ่อนค่า

InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.63/69 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วง เช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.43 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.40 - 34.69 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทเคลื่อนไหวตามแรงซื้อ-ขาย ระหว่างวัน ปัจจัยในประเทศที่กดดันเงินบาท คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ตลาดส่วนหนึ่งทำกำไรรอตัวเลขจากฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ประกอบกับเงินบาทวันนี้พุ่งอ่อนค่าตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากรับข่าว เมื่อคืนนี้ ที่ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดมาก ส่งผลให้วันนี้เงินบาทอ่อนค่า และดอลลาร์แข็งค่า "ปัจจัยการเมืองในบ้านเรามีผลต่อเงินบาท แต่คิดว่าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บาทอ่อนค่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตามเงิน ดอลลาร์เป็นหลักมากกว่า" นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.40 - 34.80 บาท/ดอลลาร์ ตัวเลขเศรษฐกิจ ที่ต้องติดตามคืนนี้ คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล ของสหรัฐฯ

* ปัจจัยสำคัญ

- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 142.75/95 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 143.19 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0900/0950 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0947 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,529.01 จุด ลดลง 21.27 จุด (-1.37%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 51,343 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,934.58 ลบ. (SET+MAI) - ประธานรัฐสภา ประกาศเลื่อนการโหวตนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำ วินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีรอบ 2 โดยกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนี้ในวันที่ 16 ส. ค. นี้ ส่งผลให้การแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่จะมีขึ้นในวันนี้เลื่อนออกไปก่อนเช่นกัน - ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาค, SCB EIC และ KTB มีมุมมองในทิศทางเดียวกันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง มุ่งสู่ระดับที่ 2.5% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว จากปัจจัยอัตรา เงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงสูง - ตลาดการเงิน คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25% ซึ่งเป็น ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีในการประชุมวันนี้ และจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 14 ครั้ง แต่มีความเป็นไปได้ว่า BoE จะสร้าง เซอร์ไพรส์ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 0.50% เหมือนกับในการประชุมเดือนมิ.ย. เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษยังคงอยู่ในระดับ สูงสุดในบรรดาประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก - ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) เปิดเผยผลสำรวจฉบับล่าสุดระบุว่า กลุ่มธุรกิจมองว่า ความตึงเครียด ทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical tensions) ถือเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน - ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล/ซีไอพีเอส ลดลงสู่ระดับ 51.5 จากระดับ 53.7 ในเดือนมิ.ย. และเท่ากับตัวเลข PMI ภาคบริการขั้นต้นของเดือนก.ค. - ไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.ค. ของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 54.1 จากระดับ 53.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 52.5

กดอ่านข่าวต้นฉบับจาก InfoQuest